ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เป็นโรงเรียนสหศึกษาขนาดใหญ่ สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งอยู่ที่ 332 ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กทม. 10400 บนเนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา มีอาคารเรียน 4 ชั้น จำนวน 5 หลัง อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง หอประชุม เผ่า-อุดม 1 หลัง อาคารสมาคมศิษย์เก่าสันติราษฎร์ 1 หลัง ศาลาประชาสัมพันธ์ 1 หลัง สนามฟุตบอล 1 สนาม สนามบาสเกตบอล 2 สนาม และสนามวอลเล่ย์บอล 1 สนาม

2470

อาจารย์ชอบ อุทัยเฉลิม

โรงเรียน จัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2470 อยู่ที่ตรอกพระยาสุนทร หัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียนเอกชน ชื่อ โรงเรียนอินทรศึกษา มีอาจารย์ชอบ อุทัยเฉลิม เป็นเจ้าของและครูใหญ่ จนกระทั่ง พ.ศ.2491 จึงได้ย้ายมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน

2496

อาจารย์ประพัฒน์ วรรธนะสาร

ในปี พ.ศ. 2496 อาจารย์ประพัฒน์ วรรธนะสาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนพญาไทศึกษา จนถึงปี 2497 ได้แยกโรงเรียนเป็น 2 โรงเรียน โรงเรียนชายมี อาจารย์เพทาย อมาตยกุล เป็นอาจารย์ใหญ่ ส่วนโรงเรียนหญิงมีอาจารย์ประทุม วรรธนะสาร เป็นอาจารย์ใหญ่

2497

อาจารย์ เพทาย อมาตยกุล
และอาจารย์ประทุม วรรธนะสาร

ปลายปี พ.ศ. 2497 สวัสดิการ กรมตำรวจ ได้รับโอนโรงเรียนทั้ง 2 โรงไปดูแล โดยคงสภาพเป็นโรงเรียนเอกชน แต่เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง และโรงเรียนสตรีสันติราษฎร์บำรุง โดยมีอาจารย์ เพทาย อมาตยกุล และอาจารย์ประทุม วรรธนะสาร เป็นอาจารย์ใหญ่เหมือนเดิม จนถึงปี พ.ศ. 2500 อาจารย์ฉายศรี รตานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีสันติราษฎร์บำรุง

2518

อาจารย์ชาลี ถาวรานุรักษ์

ปี พ.ศ. 2518 กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับโอนโรงเรียนทั้งสองไปสังกัด โดยรวมกันเป็นสหศึกษา ใช้ชื่อ โรงเรียนสันติราษฎร์รำลึก เปลี่ยนสภาพเป็นโรงเรียนรัฐบาล และแต่งตั้งอาจารย์ชาลี ถาวรานุรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนวลนรดิศ มาเป็นผู้อำนวยโรงเรียนคนแรก ต่อมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกครั้งป็น โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ซึ่งได้ชื่อนี้ และยึดถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาโรงเรียนสืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้

2519

อาจารย์มนตรี ชุติเนตร

ปี พ.ศ. 2519 กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,790,000.00 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก เป็นอาคาร 4 ชั้น คือ อาคาร 1 ในปัจจุบันนี้ และได้จัดสรรเงินงบประมาณ จำนวน 3,888,000.00 บาท เพื่อสร้างอาคาร 2 ในปี 2521 ซึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น เช่นเดียวกัน

ในปี 2523 อาจารย์มนตรี ชุติเนตร ผู้อำนวยการโรงเรียนประทุมคงคา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแทนอาจารย์ชาลี ถาวรนุรักษ์ และในปี พ.ศ. 2525 ก็ได้งบก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น หลังที่ 3 ราคา 5,569,271.00 บาท ซึ่งปัจจุบันคือ อาคาร 3

2531

อาจารย์ดุสิต พูนพอน
อาจารย์จันทร์เพ็ญ เจริญผลารักษ์

ปี พ.ศ.2531 อาจารย์ดุสิต พูนพอน ผู้อำนวยการสุรศักดิ์มนตรี ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ได้รับงบประมาณจำนวน 3,349,500.00 บาท มาก่อสร้างอาคาร 4 ซึ่งเป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ในปี 2528 นอกจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2531 คุณปทุม รอดแจ่ม นายกสมาคมศิษย์เก่าสันติราษฎร์ ได้อนุมัติเงินจำนวน 1,800,000.00 บาท ก่อสร้างอาคารสมาคมศิษย์เก่า ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานสมาคมศิษย์เก่าฯ สำนักงานสมาคมผู้ปกครองและครูฯ และใช้เป็นที่ทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ฝ่ายธุรการและห้องประชุม

ในปี พ.ศ.2531 กรมสามัญฯ ได้แต่งตั้งให้ อาจารย์จันทร์เพ็ญ เจริญผลารักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางกะปิ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย และในปีเดียวกันนี้ก็ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 5,479,000.00 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ใช้เป็นโรงอาหาร ห้องเรียนส่วนชั้นบนสุด เป็นห้องประชุมและโรงยิมส์ ต่อมาในปี พ.ศ.2533 กรมสามัญศึกษา ได้คัดเลือกให้โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เป็นโรงเรียนดีเด่นของกรมสามัญศึกษา

2533

อาจารย์ศิริลักษณ์ นันทพิศาล

ในปี พ.ศ.2533 อาจารย์ศิริลักษณ์ นันทพิศาล ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย จนกระทั่ง พ.ศ.2536

2536

อาจารย์พงษ์ศักดิ์ รุ่งโรจน์พานิช

ในปี พ.ศ.2536 อาจารย์พงษ์ศักดิ์ รุ่งโรจน์พานิช ผู้อำนวยการกรมสามัญศึกษากรุงเทพมหานคร ได้รับแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ได้ระดมทุนบูรณะหอประชุมเผ่า-อุดม เอกลักษณ์ของโรงเรียนให้คงอยู่ เด่นเป็นสง่าจนถึงทุกวันนี้

2539

อาจารย์สมรัก แพทย์พันธุ์

ในปี พ.ศ.2539 อาจารย์สมรัก แพทย์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสีกัน (วัฒนานันท์อุปถัมภ์) ได้รับแต่งตั้ง ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ในปี พ.ศ.2543 ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา ในการปรับซ่อมห้องวิทยนิทรรศ ชั้นล่าง อาคาร 2 จำนวน 400,000.00 บาท และงบประมาณจำนวน 19,837,000.00 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 324 ล/41 (หลังคาทรงไทย) ปี พ.ศ.2543 เกษียณอายุราชการ

2543

อาจารย์มยุรัตน์ สัตตวัฒนานนท์

ในปี พ.ศ.2543 อาจารย์มยุรัตน์ สัตตวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธาราม ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ได้รับงบประมาณ เพื่อปรับซ่อมอาคารเรียน ห้องวิทยนิทรรศ ในปี พ.ศ.2544 ได้รับงบประมาณ 1,606,400.00 บาท และติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีกำลังวัตต์ที่มากขึ้น โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการพลังงานแห่งชาติ ให้เข้าเป็นโรงเรียนในโครงการอาคารของรัฐ

2545

อาจารย์ชเนศร์ นาคนิยม

ในปี พ.ศ. 2545 อาจารย์ชเนศร์ นาคนิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ได้ปรับปรุงติดเครื่องปรับอากาศหอประชุมอเนกประสงค์ จัดหารถบัสปรับอากาศ ปรับปรุงห้องปฎิบัติการวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ปรับปรุงห้องน้ำนักเรียน และห้องปฏิบัติการภาษาต่างประเทศ

2549

ผู้อำนวยการสุธน คุ้มสลุด

ปี พ.ศ. 2549 ผู้อำนวยการสุธน คุ้มสลุด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชาธิวาส ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ปรับปรุงศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (อีริค) ปรับปรุงศูนย์กีฬาเทควันโด สร้างโรงจอดรถ หน้าอาคาร 5 ปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าโรงเรียน หน้าอาคาร 3 และ หลังอาคาร 4

2550

นายณัฐกิจ บัวขม

ปี พ.ศ. 2550 – 2558 นายณัฐกิจ บัวขม ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ติดตั้งโทรทัศน์ขนาด 29 นิ้ว เครื่องเสียงและดีวีดี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู และใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 65 ห้อง ทาสีรั้วโรงเรียน ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แบบสามมิติ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมตามจุดต่าง ๆ ปรับปรุงสวนหย่อมหน้าอาคาร 3 ถึงหน้าอาคารสมาคมศิษย์เก่าฯ สวนสัตตบรรณ สนาวอลเล่ย์ บ้านพักนักการภารโรง ปรับปรุงห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ห้องเรียนอาเซียน ห้องเรียนไร้พรมแดน ห้องเรียนอัจฉริยะ ปรับสนามฟุตบอล และเกษียณอายุราชการที่นี่วันที่ 30 กันยายน 2558 รวมระยะเวลา 8 ปี

2558

นายอารีย์ วีระเจริญ

นายอารีย์ วีระเจริญ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยมาตั้งแต่ 2558-2561 เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้เรียนและบุคลากร นักเรียนได้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ตลอดจนมีคุณลักษณะที่จำเป็นและเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. การพัฒนาด้านการเรียนการสอน 

เปิดแผนการเรียนพิเศษด้านภาษาจีน โดยการสร้างความร่วมมือ MOU กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในสาธารณะรัฐประชาชนจีน โดยนักเรียนได้รับประโยชน์ในด้านทุนการศึกษา และการเลือกศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำของ สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดหลักสูตรการสอนแบบทวิภาคี แผนการเรียนธุรกิจค้าปลีก แผนการเรียนธุรกิจการโรงแรม โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จนเกิดความรู้ ทักษะจากการฝึกปฏิบัติงานจริง ได้ดำเนินการพัฒนาสถานที่ภายในโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกงาน เกี่ยวกับงานด้านการบริการให้กับนักเรียน เช่น ร้านกาแฟ ร้านนวด สปา เป็นต้น

2. พัฒนาวิธีการเรียนการสอนโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

– ปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบเครือข่ายไร้สาย WiFi ทั่วโรงเรียน โดยได้รับความร่วมมือจาก Uni-net และบริษัท Huawei นำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาติดตั้งให้กับโรงเรียนเพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างด้าน ICT ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดด้วย

– พัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้ระบบบัตรผ่านประตู Digital Gate เพื่อเช็คเวลามาเรียน พร้อม Application DSchool เพื่อให้ครูและผู้ปกครองใช้ติดตามการมาเรียนของนักเรียน

3. พัฒนาด้านอาคารสถานที่

– พัฒนา ปรับปรุง ห้องเรียน ห้องประชุม และสถานที่ให้ทันสมัยสวยงามน่าใช้งาน เช่น ห้องน้ำนักเรียน สนามฟุตซอล ปูกระเบื้องโรงอาหาร ปูกระเบื้องทางเดิน ห้องฟิตเนส ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ห้องประชุมเผ่าอุดม ห้องสมุดดิจิทัล ห้องรีซอร์สเซ็นเตอร์ ห้องเกียรติยศ ห้องเรียนGifted และห้องกิจการนักเรียน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลให้คุณภาพของผู้เรียนเกิดการพัฒนา อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสมแก่การเรียนรู้

2561

นางคนึงนาถ จันทวงษ์

ปี พ.ศ. 2561 – 2563 นางคนึงนาถ จันทวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมักกะสันพิทยา ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย

2564

นางธัญจิรา โชติพงศ์กุล

ปี พ.ศ. 2564 นางธัญจิรา โชติพงศ์กุล ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน